Accessibility Tools

ศาลแพ่งตลิ่งชัน
Taling Chan Civil Court

image

ศาลแพ่งตลิ่งชัน

คำถามที่พบบ่อยimage

การติดต่อราชการศาลยุติธรรม

เมื่อเข้าไปในเขตศาล ควรปฏิบัติตน ดังนี้
     - ห้ามนำอาวุธ ยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิดเข้าไปในเขตศาล มิฉะนั้น อาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และอาจถูกดำเนินคดีอาญาด้วย
     - ห้ามส่งเสียงดัง ทะเลาะวิวาทกันในศาล ไม่เปิดประตูเข้าๆ ออกๆ ห้องพิจารณาขณะที่ศาลนั่งบัลลังก์ให้เป็นที่รำคาญแก่ผู้อื่น
     - ห้ามบันทึกภาพ เสียง หรือบันทึกวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต
     - ห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารที่ทำการศาล
การปฏิบัติตนเมื่อเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ควรปฏิบัติตน ดังนี้
     - ขณะที่ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีต้องแต่งกายสุภาพ เรียบร้อย
     - เมื่ออยู่ในห้องพิจารณาคดีต้องสำรวม เมื่อศาลขึ้นหรือลงบัลลังก์ ต้องลุกขึ้นทำความเคารพ
     - ขณะนั่งฟังการพิจารณาคดีต้องสำรวม สุภาพ ไม่พูดคุยกัน ไม่นั่งหลับ ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่สวมแว่นตาดำ ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม
     - เมื่อศาลอ่านรายงานกระบวนการพิจารณาคดีใด ผู้เกี่ยวข้องคดีนั้นต้องลุกขึ้นยืนฟัง หากบุคคลใดมีข้อความจะแถลงต่อศาลต้องลุกขึ้นยืนพูด ห้ามนั่งพูด
อันดับแรกที่ควรทำคือ ควรตรวจสอบว่าเป็นหมายชนิดใดและเกี่ยวข้องกับศาลใด เนื่องจากหมายศาลมีหลายประเภท ได้แก่
     - หมายนัด เป็นหมายที่ให้ไปศาลตามวัน เวลาที่กำหนด
     - หมายเรียก เป็นหมายที่ส่งไปพร้อมกับสำเนาคำฟ้องเพื่อให้จำเลยแก้คดีภายในกำหนด นับตั้งแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในคดีแพ่ง
     - คำสั่งเรียกเอกสาร เป็นหมายคำสั่งเรียกเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งบุคคลภายนอกของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ และคู่ความฝ่ายหนึ่งต้องการใช้เอกสารนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีของคู่ความนั้น จึงได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกให้ผู้ครอบครองเอกสารนั้นส่งเอกสารให้แก่ศาลด้วยตนเองหรือจัดส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
     - หมายเรียกให้มาเป็นพยานเบิกความต่อศาลตามวันและเวลาที่กำหนดในหมาย
     1. เมื่อได้รับหมายเรียก ควรดูอย่างรอบคอบว่าเป็นหมายของศาลใด ศาลนั้นตั้งอยู่ที่ใด ต้องไปเบิกความ ในวันและเวลาใด หากมีข้อสงสัย ควรโทรศัพท์สอบถามไปยังศาลตามหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ด้านล่างของหมายเรียก
     2. ไปศาลตามวันและเวลานัด แต่หากมีความจำเป็นไม่อาจไปศาลตามกำหนดได้ ต้องรีบแจ้งให้ศาลทราบก่อนวันนัด เพราะการขัดขืนไม่ไปศาล อาจถูกศาลออกหมายจับเพื่อเอาตัวกักขังไว้จนกว่าจะเบิกความ และยังถือว่าเป็นความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     3. ตรวจหมายเลขห้องพิจารณาคดีและรอการเบิกความที่ห้องพิจารณาคดี จึงควรนำหมายเรียกติดตัวไปศาลด้วย เพื่อความสะดวกในการติดต่อสอบถาม และเมื่อมาถึงศาลแล้ว ให้หาห้องพิจารณาคดีโดยอาจสอบถามจากพนักงานต้อนรับประจำศาลหรือเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ หรือป้ายอักษรวิ่ง จอคอมพิวเตอร์ในศาล นอกจากนี้ ควรนำหลักฐานประจำตัว เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ติดตัวไปด้วยเพื่อใช้ยืนยันตัวตน
     4. ก่อนเบิกความพยานต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาที่ตนเองนับถือหรือปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน ยกเว้นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี บุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ พระภิกษุหรือสามเณรในพุทธศาสนา และบุคคลที่คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องสาบาน ผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของศาลที่ให้สาบานหรือให้ปฏิญาณจะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     การที่บุคคลไปให้ข้อมูลแก่ศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเพื่อให้ศาลใช้ข้อมูลที่ได้รับประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น โดยการให้ข้อมูลดังกล่าวจะทำด้วยการให้บุคคลที่ไปเบิกความตอบคำถามของศาลหรือของคู่ความแต่ละฝ่าย พยานควรเบิกความเฉพาะเท่าที่ตนได้เห็น ได้ยิน หรือได้ทราบโดยตรงเท่านั้น และต้องเบิกความด้วยวาจา และห้ามพยานอ่านข้อความที่จด หรือเขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หากเหตุการณ์ที่พยานไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ให้ตอบไปตรง ๆ ว่าพยานไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ ถ้าพยานฟังคำถามของคู่ความหรือทนายความไม่ชัดเจน พยานอาจขอให้คู่ความหรือทนายความทวนคำถามใหม่ได้ เมื่อเบิกความเสร็จแล้ว ศาลจะอ่านคำเบิกความที่บันทึกให้แก่พยานฟัง ถ้าพยานเห็นว่า มีข้อความใด ไม่ตรงกับที่ได้เบิกความไว้ พยานก็สามารถทักท้วงขอแก้ไขได้ หากข้อความดังกล่าวถูกต้องทั้งหมดแล้ว ศาลจะให้พยานลงลายมือชื่อไว้ท้ายคำเบิกความและเป็นอันเสร็จสิ้นการเป็นพยาน
     การเบิกความเท็จเป็นการที่พยานเอาความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาเบิกความต่อศาล ไม่ว่าพยานผู้นั้นจะได้สาบานหรือปฏิญาณตนก่อนเบิกความหรือไม่ก็ตาม และที่สำคัญ ความเท็จนั้นต้องเป็นข้อมูลสำคัญในคดี ที่จะมีผลต่อการวินิจฉัยของศาลที่จะนำไปสู่การแพ้หรือชนะคดี ผู้เบิกความจะมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ทั้งนี้จะต้องเบิกความไป โดยมีเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนเบิกความนั้นเป็นเท็จการเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเบิกความเท็จในคดีอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท

คดีแพ่ง

     คดีแพ่ง คือ คดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หรือมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล คดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้ หรือการฟ้องให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการฟ้องมุ่งให้จำเลยชำระเงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน มิใช่มุ่งที่จะให้จำเลยต้องถูกลงโทษ เช่น จำคุก ดังเช่นคดีอาญา คดีที่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิทางศาล เพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เช่น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์หากไม่มีผู้ร้องคัดค้านคำร้องนั้นเข้ามาถือว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท
     คดีมโนสาเร่ เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินสามแสนบาทหรือคดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาท
     ส่วนคดีไม่มีข้อยุ่งยาก เป็นคดีที่ฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนที่แน่นอนตามตั๋วเงิน ซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินนั้นได้ถูกปฏิเสธ หรือตามสัญญาเป็นหนังสือซึ่งปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นสัญญาอันแท้จริง มีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย
     - ยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง (คดีผู้บริโภค คดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยากจำเลยให้การด้วยวาจาในวันนัดพิจารณาได้)
     - กรณีส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องด้วยวิธีปิดหมายหรือประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ เริ่มนับระยะเวลาเมื่อพ้น 15 วันนับแต่วันปิดหรือประกาศโฆษณา จำเลยจึงยื่นคำให้การได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ปิดหรือประกาศโฆษณา
     - เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกยื่นคำให้การแล้ว มิได้ยื่นคำให้การภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามคำสั่งศาล ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
     เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาท ในกรณีที่ทายาทของบุคคลนั้น ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของผู้ตายได้ เช่น ธนาคารไม่ยอมให้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตาย หรือสำนักงานที่ดินไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกให้ทำหน้าที่ดำเนินการรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพื่อนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาท โดยผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ (มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
     การยื่นขอจัดการมรดก ผู้มีสิทธิยื่นขอจัดการมรดก ต้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องและบัญชีพยานที่ศาลที่เจ้าของมรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย แต่หากเจ้าของมรดก ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล และเมื่อถึงวันนัดไต่สวนคำร้องขอโดยผู้ขอจัดการมรดกต้องนำพยานมาศาลในวันนัด เมื่อไต่สวนเสร็จ ศาลจึงมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

คดีผู้บริโภค

     กรณีผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ประกอบธุรกิจมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ แต่หากเป็นกรณีผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาเท่านั้น
     ผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าขึ้นศาล และค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด เว้นแต่มีเหตุตามกฎหมายหรือมีพฤติการณ์ที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หากไม่ปฏิบัติตามศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
     กรณีคู่ความเห็นว่าคดีนั้นไม่ตรงกับประเภทคดีผู้บริโภคหรือคดีแพ่งอื่น ๆ ตามที่ได้ยื่นฟ้องมานั้น คู่ความสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีการวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งจะต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากเป็นการขอให้วินิจฉัยในคดีผู้บริโภค ต้องกระทำอย่างช้าในวันนัดพิจารณา แต่ถ้าเป็นคดีแพ่งอื่น ต้องกระทำอย่างช้าในวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยานในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ดังนั้น หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วไม่อาจยกปัญหาเพื่อขอให้วินิจฉัยได้อีก
ในคดีผู้บริโภค จำเลยสามารถยื่นคำให้การในวันนัดพิจารณาได้โดยไม่จำต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
     ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ แต่หากศาลมีคำพิพากษาให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนอีกฝ่าย ผู้บริโภคจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

     การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นการยุติหรือระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงยินยอมของคู่พิพาทเอง โดยจะมีผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอมซึ่งเป็นคนกลางคอยช่วยให้คู่พิพาทเจรจาให้ได้วิธีการระงับข้อพิพาทที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับได้ โดยผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอมไม่ได้มีอำนาจตัดสินชี้ขาดเหมือนศาลหรืออนุญาโตตุลาการ ผลของการตกลงเจรจาจึงเกิดจากการตัดสินใจของคู่พิพาทเองโดยตรง
     ผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอมเป็นคนกลางคอยช่วยให้คู่พิพาทเจรจาให้ได้วิธีการระงับข้อพิพาทที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับได้ ในกรณีที่เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอาจจะเป็นผู้พิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล โดยแต่ละศาลได้ดำเนินการคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับในท้องถิ่น เพื่อมาขึ้นทะเบียนทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอม ก่อนที่บุคคลเหล่านั้นจะสามารถขึ้นทะเบียนได้จะต้องผ่านการอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสำนักงานศาลยุติธรรมเสียก่อน
     1. การดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยจะมีลักษณะไม่เป็นทางการ อีกทั้งมีขั้นตอนที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน เมื่อเปรียบเทียบกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการหรือการฟ้องคดีต่อศาล
     2. ท่านสามารถใช้บริการระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
     3. ท่านสามารถกำหนดผลของการไกล่เกลี่ยได้ เนื่องจากผลของการไกล่เกลี่ยขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคู่พิพาทเป็นสำคัญว่าจะยอมยุติปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขอย่างไร และไม่ว่าเงื่อนไขเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร จะต้องได้รับความเห็นชอบของคู่พิพาทแต่ละฝ่ายก่อน ส่วนผู้ไกล่เกลี่ยจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือให้บรรยากาศของการไกล่เกลี่ยเป็นไปโดยราบรื่นเพื่อทำให้เกิดการเจรจา ตกลงประนีประนอมยอมความกันของคู่พิพาท
     4. การไกล่เกลี่ยสามารถรักษาชื่อเสียงและสัมพันธภาพอันดีของคู่พิพาทไว้ได้ เนื่องจากกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้นกระทำเป็นการลับ ต่างจากการพิจารณาของศาลที่ต้องกระทำโดยเปิดเผย ดังนั้น เมื่อการไกล่เกลี่ยสำเร็จ ย่อมสามารถรักษาชื่อเสียงและสัมพันธภาพอันดีของคู่พิพาทไว้ได้
     1. คู่ความจะต้องสมัครใจและเต็มใจจะใช้ระบบนี้ทั้งสองฝ่าย
     2. ในการไกล่เกลี่ย คู่พิพาทต้องเจรจากันด้วยความสุภาพ ไม่ใช้วาจาหรือกิริยาก้าวร้าวต่อกัน
     3. หากมีการยกเลิกการเจรจา ข้อเท็จจริงที่มีการเจรจาไปแล้ว จะไม่ผูกมัดคู่ความในภายหลังและจะไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนพิจารณาของศาลได้
     4. ข้อตกลงที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องพอใจ
     5. ก่อนที่จะมีการพิพากษาตามยอม ผู้พิพากษาต้องพิจารณาก่อนว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย